วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระอาจารย์จักรพงษ์ ทิพสูงเนิน (ติช คั้น ติ๊น)

วิทยุคลื่นมหายาน ออนไลน์

รายการเสียงธรรมส่องโลก ทุกวันจันทร์ ถึงวันศุกร์ ดำเนินรายการโดย พระอาจารย์จักรพงษ์ ทิพสูงเนิน (ติช คั้น ติ๊น) เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. พบกับรายการ เสียงธรรมส่องโลก ทางวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คลื่นมหายาน FM 101.25 MHz. ออกอากาศ ณ วัดธรรมปัญญารามบางม่วง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ท่านสามารถฟังออนไลน์ได้ที่ www.BuddhaMahayan.com www.Mahayan.com www.Mahayan.org www.Mahayan.net

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สถานีวิทยุบริการสาธารณะพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสังคม คลื่นมหายาน Fm 101.25 MHz.



เว็บพระพุทธศาสนามหายาน

www.BuddhaMahayan.com
www.mahayan.org
www.mahayan.net



ฟังสดออนไลน์


สดหน้าไมค์ โทร: 034-979-225 , 034-979-226
มือถือ: 081-137-8680 , 083-920-9371 , 086-769-8615

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พระสูตรมหายาน


วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร
แปลโดย
เสถียร โพธินันทะ

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เชตวนารามวิหารของท่านอณาถบิณฑิกเศรษฐีแขวงเมืองสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ 1250 รูป ก็โดยสมัยนั้นแลเป็นกาลแห่งภัตต์ พระผู้มีพระภาคทรงครองจีวรทรงบาตร เสด็จจาริกไปบิณฑบาตรในนครสาวัตถีโดยลำดับ ครั้นแล้วเสด็จกลับมายังเชตวนารามทรงกระทำภัตกิจเสร็จ เก็บบาตรขึ้น ชำระพระบาท ประทับนั่งสมาธิบัลลังก์
ครั้งนั้นแล พระสุภูติผู้มีอายุได้ลุกขึ้นจากท่ามกลางประชุมสงฆ์ ทำจีวรเฉลียงบ่าด้วยการลดไหล่ขวา แล้วคุกเข่าขวาลงสู่พื้น ประคองอัญชลีมายังพระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลถามขึ้นว่า
สุ “ หาได้ยากนักหนา ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ที่พระตถาคตทรงคอยระฤกในการตามคุ้มครอง และอบรมสั่งสอนปวงพระโพธิสัตว์อย่างดียิ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรหรือกุลธิดาใดๆผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนโดยสถานใด ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างไรหนอพระเจ้าข้า”
พ “ สาธุๆ สุภูติ เป็นความจริงดุจที่เธอกล่าว ตถาคตย่อมตามระฤกในการคุ้มครอง และอบรมสั่งสอนปวงพระโพธิสัตว์เป็นอย่างดี เธอจงตั้งใจฟัง เราจักแสดงแก่เธอ กุลบุตรหรือกุลธิดาใดๆ ผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนอย่างนี้ ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างนี้ “
สุ “ อย่างนั้น พระสุคต ข้าพระองค์มีความปลาบปลื้มยินดีเฝ้าคอยสดับอยู่ “
พ “ ดูก่อน สุภูติ ปวงพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างนี้ว่า สรรพสัตว์ไม่ว่าจักเป็นเหล่าใดๆ คือ จักเป็นอัณฑะชะกำเนิดก็ดี, จักเป็นชลาพุชะกำเนิดก็ดี, จักเป็นสังเสทชะกำเนิดก็ดี, จักเป็นอุปปาติกะกำเนิดก็ดี, หรือจักมีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี เราจักโปรดสัตว์ทั้งหลายดังกล่าวนี้ ให้บรรลุสำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ โดยประการฉะนี้ ปราศจากขอบเขตแต่โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ใดๆเป็นผู้บรรลุสำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีความยืดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ในปุคคละลักษณะ ในสัตวะลักษณะ ในชีวะลักษณะไซร้ นั้นหาชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ไม่
“ อนึ่ง สุภูติ ในการบำเพ็ญทานบารมี พระโพธิสัตว์จักต้องไม่ยึดติดอยู่ในธรรม กล่าวคือจักบำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดถือผูกพันในรูป ไม่ยึดถือผูกพันในเสียง กลิ่น รส สัมผัส และบำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดถือผูกพันในธรรมารมณ์ ดูก่อน สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงบำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดถือผูกพันในการบำเพ็ญทานย่อมมีบุญกุศล อันจักคิดประมาณมิได้เลย สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน อากาศเบื้องทิศตะวันออกจักพึงคิดคำนวณประมาณได้อยู่ฤาหนอ
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ”
พ “ ดูก่อนสุภูติ ถ้าเช่นนั้น อากาศเบื้องทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดจนอากาศเบื้องบนและเบื้องล่าง จักพึงคิดคำนวณประมาณได้อยู่ฤาหนอ
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ”

พ “ ดูก่อน สุภูติ พระโพธิสัตว์ไม่เป็นผู้มีความยึดถือผูกพันในการบำเพ็ญทานย่อมมีบุญกุศลอันไม่พึงคิด คำนวณประมาณได้ดุจกัน สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงปฏิบัติตามคำสอนอย่างนี้แล”
พ “ ดูก่อน สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระตถาคตนั้นพึงจักเห็นได้ด้วยรูปลักษณะฤาหนอ”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตเจ้ามิอาจจักเห็นได้ด้วยรูปลักษณะเลย ข้อนั้นเพราะเหตุใด ก็เพราะว่าพระตถาคตเจ้าตรัสแล้วว่า รูปลักษณะนั้น โดยความจริงแล้วมิได้มีสภาวะรูปลักษณะอยู่เลย”
พ “ ดูก่อน สุภูติ สิ่งที่มีลักษณะทั้งปวง ย่อมเป็นมายา ถ้าสามารถเห็นแจ้งว่ารูปลักษณะทั้งปวง โดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะแห่งรูปลักษณะ ก็ย่อมเห็นตถาคตได้ “
สุ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังจักมีสัตว์ใดที่ได้สดับพระธรรมบรรยาย ฉะนี้แล้วแลบังเกิดศรัทธาอันแท้จริงขึ้นหรือหนอ “

พ “ อย่ากล่าวอย่างนั้นซิ สุภูติ เมื่อตถาคตดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 500 ปี หากมีบุคคลผู้ถือศีลบำเพ็ญกุศลมาบังเกิดความศรัทธาอันแท้จริงในพระธรรมบรรยาย นี้แลเขาจักถือว่านั่นเป็นความจริงไซร้ เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า บุคคลนั้นหาได้ปลูกฝังกุศลมูลเพียงในพระพุทธเจ้า 1 พระองค์ หรือพระพุทธเจ้า 2 พระองค์ 3 พระองค์ 4 พระองค์ 5 พระองค์ไม่ แต่เขาได้ปลูกฝังกุศลในพระพุทธเจ้านับด้วยพัน เป็นอเนกนับด้วยหมื่นเป็นอเนกจักนับประมาณพระองค์มิได้ บุคคลใดได้สดับพระธรรมบรรยายนี้บังเกิดจิตศรัทธาอันบริสุทธิ์แม้เพียงชั่วขณะเดียว สุภูติ ตถาคตย่อมรู้อยู่ ย่อมเห็นอยู่ในเขาเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายนี้ได้บรรลุบุญกุศลอันจักประมาณมิได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา เพราะสรรพสัตว์เหล่านี้ย่อมจักไม่มีอาตมะลักษณะ ปุคคละลักษณะ สัตวะสักษณะ ชีวะลักษณะ ไม่มีธรรมลักษณะหรืออธรรมลักษณะ ด้วยเหตุเป็นไฉน ด้วยเหตุสรรพสัตว์เหล่านี้ ถ้ายังมีจิตยึดถือผูกพันในลักษณะ ก็ชื่อว่ายังมีความยืดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ และชีวะ หากยังมีความยึดถือในธรรมลักษณะ ก็ชื่อว่ายังมีความยึดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ และชีวะ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา หรือหากมีความยึดถือในอธรรมลักษณะ ก็ยังชื่อว่ามีความยึดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ และชีวะดุจกัน เพราะเหตุฉะนั้นแล จึงไม่ควรยึดถือในธรรมและไม่ควรยึดถือในอธรรม นี้คือเหตุผลที่ตถาคตพร่ำสอนอยู่เสมอว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงกำหนดรู้ว่าธรรมะที่เราแสดงมีอุปมาดังผู้อาศัยพ่วงแพ แม้แต่ธรรมก็ยังต้องละเสีย จักกล่าวไปใยกับอธรรมเล่า” *1
(*1 ธรรมของพระพุทธองค์ดุจยานพาหนะมีแพเป็นต้น สำหรับผู้ข้ามพ้นทุกข์อาศัยข้ามวัฏฏสงสารเมื่อบรรลุถึงฝั่งอมตนิพพานที่ปรารถนาแล้ว ผู้นั้นก็ย่อมไม่แบกหามแพให้เป็นภาระ คงปล่อยทิ้งไว้ที่ชายฝั่งนั่นเอง แต่ในขณะที่ยังไม่บรรลุถึงฝั่งก็จำต้องอาศัยไปพลางๆ ข้อความนี้เปรียบเทียบได้กับพุทธภาษิตในอลคัททูปมสูตรแห่งบาลีมัชฌิมนิกาย-ผู้แปล )
“ สุภูติเอย เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณฤา ตถาคตได้แสดงพระธรรมเทศนาอยู่ฤา”
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตามความเข้าใจของข้าพระองค์ในธรรมอรรถอันพระสุคตได้ตรัสไว้ ก็ไม่มีสภาวะใดแน่นอนที่เรียกว่าพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิ และก็ไม่มีสภาวะธรรมแน่นอนอันใดซึ่งพระองค์แสดง ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน เพราะว่าธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสทั้งหมดไม่ควรยึดถือ ไม่ควรกล่าว ไม่ใช่ธรรมและไม่ใช่อธรรมทั้งนี้ด้วยเหตุอันใด ด้วยเหตุว่า พระอริยะบุคคลทั้งหลายอาศัยอสังขตธรรมนี้แล้วจึงมีความแตกต่างกัน *2

( *2 ธรรมทั้งปวงมีความศูนย์เป็นลักษณะ จึงกล่าวไม่ได้ว่าเป็นธรรมหรืออธรรม และจากความศูนย์นี้ เราจึงแบ่งประเภทอริยบุคคลต่างๆ เช่นพระโสดา สกทาคามี อนาคามีและพระอรหันต์ ทั้งนี้เพราะธรรมทั้งปวงไม่มีสภาวะแน่นอนอยู่ได้โดยตัวมันเอง ถ้ามีสภาวะแน่นอนในตัวของมันเองไซร้ พระอริยบุคคลประเภทต่างๆนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้)
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ถ้ามีบุคคลใดบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะอันเต็มเปี่ยมทั่วมหาตรีสหัสโลกธาตุ บุคคลนั้นจักได้เสวยบุญกุศลอันมากมายกระนั้นฤาหนอ”
สุ “ มากมายนั้นแล้วพระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าบุญกุศลนั้นโดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะอันใดที่เป็นกุศล ฉะนั้นพระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่าได้บุญกุศลมากมาย” *3
(*3 โดยปรมัตถ์บุญกุศลก็เป็นอนัตตาหรือศูนยตา การที่ไม่ยึดถือบุญกุศลนั่นแหละ จึงนับว่าเป็นบุญกุศลโดยแท้ เพราะเป็นบุญกุศลชนิดวิวัฏฏะ-ผู้แปล)
พ “ ถ้ามีบุคคลได้อาศัยปฏิบัติตามพระสูตรนี้ แม้ที่สุดเพียงคาถา 4 บาท และประกาศสั่งสอนแก่ผู้อื่น บุญกุศลของผู้นั้นจักโอฬารยิ่งกว่าผู้ทำทานด้วยสัปตรัตนะข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดจนพระพุทธอนุตตรสัมมาสัมโพธิธรรมทั้งปวงล้วนมีกำเนิดจากพระสูตรนี้ สุภูติเอย สิ่งที่เรียกว่าพระพุทธธรรมนั้น โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะพระพุทธธรรมนั้นเลย”
“ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระโสดาบันจักสามารถนมสิการว่า เราได้บรรลุโสดาปัตติผลฤา”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้เข้าสู่กระแส แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดที่เจ้าสู่กระแสเลย การไม่เข้าถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธรรมารมณ์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าพระโสดาบัน”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระสกทาคามีจักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุสกทาคามีผลฤา “
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระสกทาคามีชื่อว่าเป็นผู้จักเวียนกลับมา(ในกามาวจรภพ) อีกครั้งเดียว แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดเวียนกลับมาอีก เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า พระสกทาคามี”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระอนาคามีจักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุอนาคามีผลฤา “
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระอนาคามีชื่อว่าเป็นผู้ไม่กลับมาอีก(ในกามาวจรภพ) แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดที่ไม่กลับมาอีก เป็นสักแต่ชื่อว่าพระอนาคามี”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระอรหันต์จักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุอรหัตตมรรคผลฤา “
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะโดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดที่เรียกว่าอรหันต์ ข้าแต่พระสุคต หากพระอรหันต์จักพึงมนสิการว่า เราบรรลุอรหัตตมรรคอย่างนี้ไซร้ ก็ชื่อว่าได้ยึดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ ชีวะเข้าแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่าในหมู่ผู้บรรลุอารัณยิกสมาธิอันยอดเยี่ยมนั้น ได้แก่ตัวข้าพระองค์ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้ยอดเยี่ยมพ้นแล้วจากกิเลสราคะ ข้าแต่พระองค์ผู้ควรบูชา ข้าพระองค์ไม่มนสิการว่า ตัวเราได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ผู้ยอดเยี่ยมพ้นแล้วจากกิเลสราคะ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าข้าพระองค์ยังมนสิการว่า ตัวเราได้บรรลุอรหัตตมรรคอย่างนี้ไซร้ พระสุคตจักไม่ตรัสว่าสุภูติเป็นผู้ยินดีในอารัณยกปฏิปทาเลย โดยความจริงแล้วสุภูติมิได้ยึดถือในปฏิปทาเลย ฉะนั้นพระองค์จึงตรัสยกย่องว่า สุภูติเป็นผู้ยินดีในอารัณยกปฏิปทา”
พ.” สุภูติเอย เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ณ เบื้องอดีตกาลโน้น เมื่อตถาคต(ยังเป็นพระโพธิสัตว์) อยู่ในสำนักของพระทีปังกรพุทธเจ้า ตถาคตได้บรรลุธรรมอันใดฤา”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระตถาคต (ยังเป็นพระโพธิสัตว์)อยู่ในสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้ามิได้ทรงบรรลุ ธรรมใดๆเลย” *4

( * 4 เมื่อครั้งพระศาสดาเรายังเสวยพระชาติเป็นโพธิสัตว์ในชาติหนึ่งเกิดเป็นดาบสชื่อสุเมธ ได้ทอดองค์ลงต่างสะพานไปในลุ่มเลน พร้อมทั้งสยายเกศาปกคลุมสถานสกปรกนั้น เพื่อพระทีปังกรพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกเสด็จผ่าน สุเมธดาบสได้ตั้งความปรารถนาพระโพธิญาณในขณะที่พระทีปังกรพุทธเจ้า เสด็จเหยียบบนร่างกายของตน และได้รับพุทธพยากรณ์ว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตการ-ผู้แปล)
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระโพธิสัตว์บุคคลจักพึงกระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรฤาหนอ”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าการกระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรนั้น โดยความจริงมิได้มีสภาวะการกระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ากระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรเท่านั้น”
พ “ เพราะฉะนั้นแล สุภูติ พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ทั้งปวงพึงยังจิตให้บริสุทธิ์สะอาดโดยประการอย่างนี้ กล่าวคือพึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในรูป พึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในเสียง ในกลิ่ง ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ พึงยังจิตมิให้บังเกิดมีความยึดถือผูกพันในสภาวะใดๆ”
“ สุภูติ อุปมาดั่งบุคคลผู้มีรูปกายสัณฐานดุจขุนเขาพระสุเมรุ เธอจักมีความคิดเห็นเป็นไฉน รูปกายแห่งบุคคลนั้นมโหฬารฤาหนอแล”
สุ “มโหฬารนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใดเล่า เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า รูปกายนั้นโดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า รูปกายอันมโหฬารเท่านั้น”
พ “ ดูก่อนสุภูติ อุปมาดั่งจำนวนเมล็ดทรายในท้องคงคานทีแลมีแม่น้ำคงคาเป็นอันมากนับด้วยเมล็ดทรายเหล่านั้น เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จำนวนแห่งเมล็ดทรายในคงคานทีทั้งหลาย จักนับได้ว่ามากมายอยู่ฤาหนอ”
สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพราะคงคานทีเองก็ยังมีปริมาณมากจนมิอาจคำนวนได้ จักป่วยกล่าวไปใยถึงเมล็ดทรายในนทีเหล่านั้น”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เรากล่าวกับเธอโดยแท้จริงว่า ถ้ามีกุลบุตร กุลธิดาใดๆนำ สัปตรัตนะซึ่งมีปริมาณเต็มเปี่ยมดุจเมล็ดทรายในคงคานทีทั่วมหาตรสหัสโลกธาตุมาบริจาคทาน จักได้บุญกุศลมากอยู่ฤาหนอแล”
สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีภาค”
พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ ถ้ากุลบุตร กุลธิดาใดๆหากได้ประพฤติปฏิบัติตามพระสูตรนี้ที่สุดแม้จะปฏิบัติคาถาเพียง 4 บาท หรือประกาศแสดงแก่คนอื่นๆข้อนั้นย่อมจะเป็นบุญกุศลวิเศษยิ่งกว่าบุญกุศลที่กล่าวแล้วนั้นอีก
อนึ่ง สุภูติ ณ สถานที่ใดมีผู้ได้ประกาศแสดงพระสูตรนี้ แม้ที่สุดคาถาเพียง 4 บาท เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า ณ สถานที่ (ประกาศแสดง)นั้น ทวยเทพมนุษย์และอสูรในโลกทั้งหลายถึงกระทำสักการบูชาดุจพระพุทธสถูปวิหาร จักป่วยกล่าวไปใยกับบุคคลผู้ปฏิบัติประพฤติตามพระสูตรนี้ทั้งหมด ตลอดจนสามารถเจริญสาธยายได้เล่า สุภูติเอย เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า บุคคลดังกล่าวนั้นแลได้ยังความสำเร็จแล้วในธรรมอันเป็นยอดสูงสุดซึ่งหาได้โดยยาก ถ้าพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่ ณ สถานที่ใด ณ สถานที่นั้นย่อมชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดับอยู่ และมีพระอัครสาวกสำนักอยู่”
ก็โดยสมัยนั้นแล พระสุภูติได้กราบทูลถามพระสัมพุทธเจ้าขึ้นว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระสูตรนี้มีนามว่ากระไรพระเจ้าข้า และข้าพระองค์ทั้งหลายจักพึงรับปฏิบัติอย่างไรพระเจ้าข้า”
พระสัมพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ พระสูตรนี้ชื่อว่า วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร นี้แลเป็นนามอันเธอพึงรับปฏิบัติ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปรัชญาปารมิตานั้นโดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะแห่งปรัชญาปารมิตาเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า ปรัชญาปารมิตาเท่านั้น ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตได้แสดงพระธรรมเทศนาอยู่ฤา”
พระสุภูติกราบทูลสนองพระสัมพุทธเจ้าว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตเจ้ามิได้แสดงพระธรรมเทศนาใดๆเลย”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ปรมาณูในมหาตรีสหัสโลกธาตุ มีปริมาณมากอยู่ฤาหนอแล”
สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระสุคต”
พ “ สภูติเอย ก็ปรมาณูเหล่านั้น ตถาคตกล่าวว่าโดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะปรมาณูเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าปรมาณู ตถาคตกล่าวว่า โลกธาตุก็ไม่มีสภาวะแห่งโลกธาตุอยู่เลย เป็นสักแต่ชื่อว่าโลกธาตุเท่านั้น ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักถึงเห็นตถาคตได้ในมหาปุริสสลักษณะ 32 ประการฤาหนอ”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จักเห็นพระตถาคตเจ้าโดยมหาปุริสสลักษณะ 32 ประการมิได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระตถาคตเจ้าตรัสว่า ลักษณะ 32 ประการนั้น โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะแห่งลักษณะอยู่เลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าลักษณะ 32 ประการเท่านั้น”
พ “ ดูก่อนสุภูติ ถ้ามีกุลบุตร กุลธิดาใดๆได้สละร่างกายกอบทั้งชีวิตอันมีประมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกบริจาคทาน แต่หากมีบุคคลได้ปฏิบัติตามพระสูตรนี้แม่ที่สุดเพียงคาถา 4 บาท ประกาศแสดงอรรถแก่บุคคลอื่น ย่อมมีบุญกุศลมากมายยิ่งกว่า”
ครั้งนั้นแล พระสุภูติได้สดับพระสูตรนี้แล้ว เป็นผู้มีความซาบซึ้งแจ่มชัดในธรรมอรรถนั้น จึงบังเกิดอาการร้องไห้หลั่งน้ำตา (ด้วยความปิติ) แล้วกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
สุ “ หาได้ยากนัก ข้าแต่พระผู้มีภาค ในการที่พระสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรอันสุขุมล้ำลึกเป็นปานฉะนี้ ในอดีตกาลนับแต่ข้าพระองค์ได้บรรลุปัญญาจักษุเป็นต้นมา มิได้เคยสดับพระสูตรดั่งนี้เลย ข้าแต่พระสุคต ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรดังกล่านี้ มีศรัทธาอันบริสุทธิ์ แล้วบังเกิดลักษณะอันแท้งจริง (กล่าวคือปัญญารู้แจ้งในสภาพตามเป็นจริง) ก็พึงสำเหนียกได้ว่าบุคคลนั้นได้บรรลุสำเร็จซึ่งคุณานิสงส์อันเยี่ยมยอดหาได้โดยยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ลักษณะอันแท้จริงนั้น โดยความจริงไม่มีลักษณะ ฉะนั้นพระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า นั่นเป็นลักษณะที่แท้จริง ข้าแต่พระผู้มีภาค ข้าพระองค์ได้สดับพระสูตรนี้ ณ บัดนี้ มีความศรัทธาและซาบซึ้งในธรรมอรรถรับปฏิบัติตาม ย่อมไม่เป็นข้อยากเย็นอะไรเลย ก็แต่ว่าในอนาคตกาลจากนี้ 500 ปี หากมีสรรพสัตว์ใดได้สดับพระสูตรนี้ แล้วแลบังเกิดความศรัทธาซาบซึ้งในธรรมอรรถรับปฏิบัติตาม บุคคบนั้นนับว่าเป็นบุคคลอย่างเยี่ยมยอดชนิดหาได้โดยยากทีเดียวพระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าบุคคลนั้นจักเป็นผู้ปราศจากความยึดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในปุคคละลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในสัตวะลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในชีวะลักษณะ ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน เพราะว่าอาตมะลักษณะนั้นไม่มีสภาวะลักษณะเลย ด้วยเหตุดังฤา เมื่อละความยึดถือในสรรพลักษณะทั้งปวง ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้แจ้งตรัสรู้เช่นพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย”
พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ อย่างนั้นอย่างนั้น ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรนี้แล้วแลไม่บังเกิดความกลัว ไม่บังเกิดความครั่นคร้าม ไม่บังเกิดความระย่อ*5 เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่าบุคคลนั้นเป็นผู้หาได้โดยยาก ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน สุภูติ ตถาคตกล่าวว่า บารมีอันยอดเยี่ยมนั้นโดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะแห่งบารมีอันยอดเยี่ยมนั้นเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า บารมีอันยอดเยี่ยมเท่านั้น ดูก่อนสุภูติ ขันติบารมีนั้นตถาคตกล่าวว่าแท้จริงไม่มีสภาวะแห่งขันติบารมีนั้นเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า ขันติบารมีเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเหตุดังฤา สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลนานโพ้น เมื่อครั้งเราถูกพระเจ้ากลิราชาตัดหั่นสรีระ *6 ครั้งนั้นเราไม่ถือมั่นในอาตมะลักษณะ ไม่ถือมั่นในปุคคละสักษณะ ไม่ถือมั่นในสัตวะลักษณะ ไม่ถือมั่นในชีวะลักษณะ ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าสมัยนั้นขณะที่สรีระของเราถูกหั่นฉะเชือดออกเป็นส่วนๆ หากเรามีความถือมั่นในอาตมะลักษณะ ปุคคละลักษณะ สัตวะลักษณะ สัตวะลักษณะ ชีวะลักษณะไซร้ก็จะพึงบังเกิดความโกรธแค้นอาฆาต ดูก่อนสุภูติ อนึ่งเรายังตามระลึกถึงกาลที่ล่วงมาแล้ว 500 ชาติ เมื่อเราเป็นกษานติวาทีดาบส ในชาตินั้นเราปราศจากความถือมั่นในอาตมะลักษณะ ปราศจากความถือมั่นในปุคคลลักษณะ ปราศจากความถือมั่นในสัตวะลักษณะ ปราศจากความถือมั่นในชีวะลักษณะ ด้วยเหตุฉะนั้นแล สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงเป็นผู้ละความยึดถือในลักษณะทั้งปวง แล้วบังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ พึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในรูป พึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ พึงยังจิตให้ปราศจากความยึดถือผูกพันใดๆ และถ้าจิตยังมีความยึดถือผูกพันอยู่ ก็ย่อมชื่อว่าจิตมิได้ตั้งอยู่ในสถานะที่ควร(แก่อนุตตรสัมมาสัมโพธิ กล่าวคือจิตที่ตั้งอยู่ในสถานะที่ความแก่อนุตตรสัมมาสัมโพธิ ต้องเป็นจิตชนิดที่ปราศจากความยึดถือผูกพัน) ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระโพธิสัตว์ไม่พึงบริจาคทานด้วยจิตซึ่งยึดถือผูกพันในรูป ดูก่อนสุภูติ พระโพธิสัตว์ผู้ยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ พึงบริจาคทานอย่างนี้แล ตถาคตกล่าวว่าลักษณะทั้งปวง โดยความจริงแล้ว ก็ปราศจากสภาวะแห่งลักษณะ และกล่าวว่าสรรพสัตว์ โดยความจริงแล้ว ก็ปราศจากสภาวะแห่งสรรพสัตว์ดุจกัน
( *5 ทั้งนี้เนื่องด้วยพระสูตรนี้แสดงเรื่อง ศูนยตา อันเป็นปรมัตถ์สุดยอด ผู้ที่ยังมีความหลงไหลอยู่เมื่อฟังแล้วก็เข้าใจว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ หรือเกิดความกลัวในความว่างเปล่าขึ้น ทั้งนี้โดยสัญชาติญาณแห่งภวตัณหาของสัตว์ทั่วๆไป แม้จนกระทั่งพรหมชั้นสูง พากันคิดในความมีความเป็นเมื่อมาฟังคารมปฏิเสธในพระสูตรนี้ จึงอาจเกิดความกลัวความระย่อ-ผู้แปล)
( *6 ในชาดกกล่าวว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกษานติวาทีดาบส (บาลี คือขันติวาทีดาบส )ครั้งหนึ่งจาริกมาพักอยู่ในราชอุทยานของพระเจ้ากลาปุหรือ กลิราชาแห่งเมืองพาราณสี วันหนึ่งพระราชาพานางสนมกำนัลประพาสอุทยาน เสวยน้ำจัณฑ์เมาบรรทมหลับไป ครั้นตื่นขึ้นไม่เห็นนางสนมกำนัลเหล่านั้น จึงเสด็จเที่ยวหามาพบนางในเหล่านั้นห้อมล้อมฟังธรรมของดาบสอยู่ พระราชาบังเกิดความหึงหวงดำรัสให้ลงโทษดาบส และถามดาบสถือธรรมอะไร พระโพธิสัตว์ตอบว่าถือขันติ พระราชาก็ยิ่งให้ทำทรมานมากขึ้น จนถึงตัดมือตัดเท้า ทรมานจนพระโพธิสัตว์มรณะภาพแล้วพระราชาจึงเสด็จกลับ ครั้นเสด็จถึงประตูอุทยานก็ถูกธรณีสูบลงสู่อเวจีมหานรก – ผู้แปล)
ดูก่อนสุภูติ ตถาคตเป็นสัจจวาที ภูตวาที ตถวาที อวิตถวาที อนัญญถวาที สุภูติ ธรรมอันตถาคตบรรลุ มิได้เป็นสิ่งมีอยู่จรงิหรือเป็นสิ่งไร้แก่นสารก็หาไม่ *7 สุภูติ หากพระโพธิสัตว์มีจิตยึดถือผูกพันในธรรมแล้วแลบริจาคทาน อุปมาดั่งบุคคลผู้เข้าสู่สถานที่มือย่อมไม่อาจเห็นสิ่งอะไรได้เลย แต่ถ้าพระโพธิสัตว์มีจิตไม่ยึดถือผูกพันในธรรมแล้วและบริจาคทาน มีอุปมาดั่งบุคคลผู้มีจักษุสว่างและ (เข้าไปในสถาน)ที่ซึ่งมีแสงอาทิตย์สว่าง ย่อมจะเห็นชัดในรูปต่างๆได้
(* 7กล่าวคือจะว่ามีสภาวะโดยตัวมันเองอยู่อย่างจริงแท้ ก็ชื่อว่าตกเป็นฝ่ายอัตถิตาข้างสัสสตทิฎฐิไป จะว่าว่างเปล่าไร้สาระเสียเลยทีเดียวเป็นการปฏิเสธต่อสมมติบัญญตก็ชื่อว่า ตกเป็นฝ่ายนัตถิตา ข้างนัตถิกทิฎฐิ ธรรมะของพระพุทธองค์ไม่เป็นทั้งอัตถิตาหรือนัตถิตา เพราะพระองค์แสดงโดยปรมัตถนัยและโลกิยนัย ทั้งมิให้ยึดถือทั้งในความมีอยู่หรือไม่มีอยู่ – ผู้แปล)
ดูก่อนสุภูติ ในอนาคตกาลเบื้องหน้า หากมีกุลบุตร กุลธิดาใดๆอาจสามารถรับปฏิบัติตามพระสูตรนี้ หรือเจริญสาธยายก็ดี อาศัยอำนาจแห่งพุทธปัญญาของตถาคตย่อมทราบชัดอยู่ซึ่งผู้นั้น ย่อมเห็นอยู่ซึ่งผู้นั้นจักสำเร็จบรรลุคุณานิสงส์อันจักประมาณมิได้และไม่มีขอบเขต”
สุภูติเอย กุลบุตร กุลธิดาใดๆ ในยามเช้าจักบริจาคสรีระกายอันมีประมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกเป็นทานก็ดี ในยามกลางวันยังจักบริจาคสรีระกายอันมีปริมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกเป็นทานก็ดี แม้ในยามเย็นก็ยังจักบริจาคสรีระกายอันมีปริมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกเป็นทานก็ดี เขาจักสละสรีระตลอดกาลนับหลายร้อยพันหมื่นโกฏิกัลป์อันไม่มีประมาณ ออกบริจาคเป็นทานอยู่ตลอดก็ตาม แต่ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรนี้แล้วบังเกิดจิตศรัทธาไม่คัดค้าน บุญกุศลของเขาผู้นั้นยังประเสริฐกว่า จักป่วยกล่าวไปใยกับการที่เขาคัดลอก รับปฏิบัติ เจริญสาธยาย และอธิบายอรรถซึ่งพระสูตรนี้แก่บุคคลอื่นๆได้เล่า
อนึ่ง สุภูติ โดยสรุปความสำคัญแล้ว ก็กล่าวได้ว่าพระสูตรนี้มีคุณานิสงส์อันจักพึงคิดคาดคะเนมิได้ หรือจักประมาณก็มิได้ประกอบด้วยคุณานิสงส์อันไม่มีขอบเขต ตถาคตประกาศพระสูตรนี้ เพื่อบุคคลผู้มุ่งต่อมหายาน และประพระสูตรนี้เพื่อบุคคลผู้มุ่งต่ออนุตตรยาน ถ้ามีบุคคลผู้สามารถรับปฏิบัติตามก็ดี เจริญสาธยายก็ดี ประกาศแสดงแก่บุคคลอื่นๆก็ดี ตถาคตย่อมทราบชัดอยู่ซึ่งผู้นั้น ย่อมเห็นอยู่ซึ่งผู้นั้น บุคคลนั้นๆทั้งหมดจักบรรลุคุณานิสงส์ซึ่งประมาณมิได้ กล่าวมิได้ ปราศจากขอบเขต และเป็นอจินไตย บุคคลผู้เช่นนี้ชื่อว่าเป็นผู้แบกคอนพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิของพระตถาคต ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ หากบุคคลใดเป็นผู้ยินดีในธรรมอันคับแคบ มีความยึดถือผูกพันเห็ว่ามีอาตมะ เห็นว่ามีปุคคละ เห็นว่ามีสัตวะ และเห็นว่ามีชีวะไซร้ เขาผู้นั้นย่อมไม่สามารถรับฟังและปฏิบัติตามพระสูตรนี้ได้ และไม่สามารถเจริญสาธยายหรือประกาศพระสูตรนี้แก่บุคคลอื่นๆได้เลย
ดูก่อนสุภูติ ในสถานที่ใดๆ ถ้ามีพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่สถานที่นั้นๆย่อมเป็นสถานอันทวยเทพ ตลอดจนมนุษย์และอสูรในโลกทั้งหลายจักพึงกระทำสักการบูชา เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า ณ.สถานที่ดังกล่าวนี้แลเป็นพระสถูปเจดีย์ ควรแก่การเคารพพนมไหว้กระทำการประทักษิณ และนำบุปผาชาตินานาพรรณมาเกลี่ยบูชา
อนึ่ง สุภูติ กุลบุตร กุลธิดาใดๆมารับปฏิบัติหรือเจริญสาธยายซึ่งพระสูตรนี้ แลแล้วถูกคนเขาดูหมิ่นย่ำยี บุคคลนั้น (คือผู้ปฏิบัติตามพระสูตรนี้) อันอกุศลกรรมแต่ปางหลังชาติก่อนสมควรแก่การจบลงสู่อบายทุคคติภูมิ แต่เมื่อเขาได้รับการดูหมิ่นย่ำยีจากคนอื่นในภพปัจจุบัน(มาชดเชย) อกุศลกรรมแต่ปางก่อนจึงดับศูนย์ บุคคลนั้นจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ
สุภูติเอย เรามาตามระฤกได้อยู่ซึ่งอดีตนับด้วยอสงไขยกัลป์อันจักประมาณมิได้ เบื้อหน้าแต่ก่อนที่จะได้เฝ้าพระทีปังกรพุทธเจ้า เราได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย นับจำนวนแปดร้อยสี่พันหมื่นองสไขยนิยุตะองค์ *8 เราได้เฝ้าปฏิบัติบูชาพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นโดยมิพลาดโอกาสแม้ สักพระองค์หนึ่งเลย อนึ่ง หากมีบุคคลกาลอนาคตสมัยปลายแห่งพระสัทธรรม อาจสามารถรับปฏิบัติ เจริญสาธยายซึ่งพระสูตรนี้ คุณานิสงส์ซึ่งเขาพึงได้นั้น เมื่อมาเปรียบเทียบกับคุณานิสงส์ซึ่งเราบูชาพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในร้อยส่วนไม่ถึงหนึ่งส่วน (ในคุณานิสงส์ของผู้นั้น) นับด้วยพันหมื่นอสงไขยกัลป์ส่วนที่สุดจนเหลือคณานับซึ่งจะเปรียบเทียบมิได้เลย
( *8 ตอนนี้กล่าวถีงอานุภาพของการปฏิบัติพระสูตรนี้ ทำให้อกุศลกรรมแต่ก่อนซึ่งควรให้ผลในชาติต่อไป กลายเป็นย่นเวลาให้สั้นมาให้ผลในปัจจุบันเพียงแค่ได้รับการดูหมิ่นจากผู้อื่นเท่านั้น – ผู้แปล )
ดูก่อนสุภูติ กุลบุตร กุลธิดาใดๆในสมัยเบื้องปลายแห่งพระสัทธรรม ได้มาปฏิบัติและเจริญสาธยายพระสูตรนี้ คุณานิสงส์อันเขาได้นั้น ถ้าเราจักพึงอธิบายโดยละเอียดสมบูรณ์ซึ่งคุณานิสงส์นั้นแล้ว หากมีผู้ใดสดับเข้าก็จะพึงบังเกิดความวุ่นวายแห่งจิต มีวิจิกิจฉาไม่เชื่อถือเลย *9 สุภูติ เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่าธรรมอรรถแห่งพระสูตรนี้เป็นอจินไตย แม้ผลานิสงส์ก็เป็นอจินไตยดุจกันอย่างนี้แล”
( *9 กล่าวคืออานิสงส์ซึ่งกล่าวมาแต่ต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้ากล่าวอธิบายอานิสงส์ทั้งหมดจะเป็นการมโหฬารพันลึก เกรงผู้เข้าไม่ถึงจะไม่เชื่อ – ผู้แปล)
โดยสมัยนั้นแล พระสุภูติกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค กุลบุตร กุลธิดาใดๆ ผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนโดยสถานใด ควรจักบำราบจิตของตนอย่างไรหนอพระเจ้าข้า”
พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ กุลบุตร กุลธิดาใดๆผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนอย่างนี้ ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้โปรดสรรพสัตว์ให้สำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แลสรรพสัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้วก็จริง แต่โดยความจริงแล้วก็มิได้มีสัตว์ใดๆแม้สักผู้หนึ่งได้ดับขันธนิพพานเลย ข้อนั้นเพราะเหตุใดฤา สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีความยึดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ปุคคละลักษณะ สัตวะลักษณะ ชีวะลักษณะ นั่นก็หาใช่พระโพธิสัตว์ไม่ ทั้งนี้ด้วยเหตุเป็นไฉน สุภูติ โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะธรรมที่จะ(เป็นผู้) บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั่นเอง *10
( * 10 คือผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นพระโพธิสัตว์ก็เป็นสภาพว่างเปล่าไร้ตัวตน แล้วจริยะธรรมอันเกิดจากสภาพว่างเปล่านั้นจักเป็นของมีอยู่ได้อย่างไร-ผู้แปล)
ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน เมื่อตถาคตอยู่ในสำนักแห่งพระทีปังกรพุทธเจ้ามีธรรมอันใดที่เราพึงบรรลุ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิฤา”
สุ “ ไม่มีเลย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตามความเข้าใจของข้าพระองค์ในธรรมอรรถของพระสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งพระองค์อยู่ในสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้า ปราศจากธรรมอันพึงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิเลย”
พ “ อย่างนั้นอย่างนั้น สุภูติ โดยความจริงแล้ว ย่อมไม่มีธรรมใดซึ่งตถาคตจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิเลย ดูก่อนสุภูติ หากพึงมีธรรมใดซึ่งตถาคตบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิไซร้ พระทีปังกรพุทธเจ้าก็จักไม่พยากรณ์แก่เราว่า “ในอนาคตกาลท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้ามีนามกรว่า พระศากยมุนี “ แต่ที่แท้ย่อมไม่มีธรรมใดซึ่งจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ฉะนั้น พระทีปังกรพุทธเจ้าจึงตรัสพยากรณ์แก่เราว่า“ในอนาคตกาลท่านจักได้เป็น พระพุทธเจ้ามีนามกรว่า พระศากยมุนี “ ข้อนั้นเพราะเหตุใด ก็เพราะว่า “ตถาคต” นั้น คือสภาพความเป็นอย่างนั้นแห่งธรรมดาทั้งปวง ถ้ามีผู้กล่าวว่า ตถาคตบรรลุแก่พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิไซร้ สุภูติ โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะธรรมใดเลย ซึ่งพระพุทธเจ้าจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ สุภูติเอย โดยความจริงแล้วพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิอันตถาคตบรรลุนั้น ในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ย่อมไม่มีสภาวะความมีอยู่และไม่มีอสภาวะความไม่มีอยู่เลย และด้วยเหตุดังกล่าวนั้นแล ตถาคตจึงกล่าวว่าธรรมทั้งหลายล้วนเป็นพระพุทธธรรม อนึ่ง สุภูติ ตามที่เรากล่าวว่าธรรมทั้งหลายล้วนเป็นพระพุทธธรรมนั้น โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะแห่งธรรมทั้งหลายเลย เป็นสักแต่เรียกว่าธรรมทั้งหลายเท่านั้น
ดูก่อนสุภูติ อุปมาดั่งบุคคลผู้มีรูปกายสูงมหึมา”
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตตรัสว่า บุคคลผู้มีรูปกายสูงมหึมาโดยแท้จริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งรูปกายสูงมหึมา เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ารูปกายสูงมหึมาเท่านั้น”
พ “ ดูก่อนสุภูติ โดยประการเดียวกัน ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีวาทะกล่าวว่าเราเป็นผู้โปรดสรรพสัตว์ให้บรรลุนิพพานธาตุไซร้ ก็หาชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ โดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะใดที่เรียกว่าพระโพธิสัตว์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าธรรมทั้งหลายไม่มีอาตมะ ไม่มีปุคคละ ไม่มีสัตวะ และไม่มีชีวะ
อนึ่ง สุภูติ หากพระโพธิสัตว์มีวาทะกล่าวว่า เราจักกระทำการตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรอย่างนี้ไซร้ ก็หาชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ ทั้งนี้เพราะเหตุไฉน ตถาคตกล่าวว่า การตบแต่งอลังการพุทธเกษตรนั้น โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งการตบแต่งอลังการ เป็นสักแต่ชื่อว่าตบแต่งอลังการเท่านั้น สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์สามารถแจ่มแจ้งเข้าถึงความจริงว่าธรรมทั้งหลายว่างเปล่าจาก ตัวตนแลของๆตนอย่างนี้ ตถาคตจึงกล่าวว่านั่นเป็นพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง”
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีมังสะจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีมังสะจักษุ ”
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีทิพจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีทิพจักษุ “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีปัญญาจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีปัญญาจักษุ “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีธรรมจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีธรรมจักษุ “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีพุทธจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีพุทธจักษุ “
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน อุปมาดั่งเมล็ดทรายในคงคานที ตถาคตกล่าว่านั่นเป็นเมล็ดทรายฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตตรัสเรียกว่านั่นเป็นเมล็ดทราย “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน เปรียบดุจเมล็ดทรายในท้องคงคานที แลมีแม่น้ำคงคาเป็นอันมากนับด้วยเมล็ดทรายเหล่านั้น อนึ่ง มีพุทธเกษตรโลกธาตุอื่นๆอีกเท่าจำนวนเมล็ดทรายในคงคานทีทั้งปวงอีกเล่า ด้วยประการดั่งนี้พึงนับเป็นจำนวนมากหลายอยู่ฤาหนอแล “
สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค “
พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
“ สรรพสัตว์ในโลกธาตุทั้งปวงเหล่านั้นมีจิตประพฤติโดยประเภทต่างๆกัน ตถาคตย่อมรู้ชัดแจ่มแจ้งในจิตพฤตติต่างๆนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ตถาคตกล่าวว่า สรรพจิตทั้งปวงนั้นโดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งจิต เป็นสักแต่ชื่อว่าจิตเท่านั้น ด้วยเหตุดังฤา สุภูติ จิตในอดีตปราศจากแก่นสารจะถือเอาก็ไม่ได้ จิตในปัจจุบันปราศจากแก่นสารจะถือเอาก็ไม่ได้ แม้จิตในอนาคตก็ปราศจากแก่นสารจะถือเอาก็ไม่ได้ดุจกัน “ *11
(*11 ขณะจิตในอดีตกับไปแล้ววอดวายไปแล้วจึงไม่มีอยู่ ขณะจิตในอนาคตเล่าก็ยังไม่เกิดขึ้นไม่มีอยู่อีก ส่วนขณะจิตในปัจจุบันกำลังแปรไปไม่คงที่ อนึ่ง เพราะอาศัยอดีตกับอนาคตจึงมีปัจจุบัน ก็เมื่ออดีตไม่มีสภาวะ อนาคตก็ไม่มีสภาวะ ปัจจุบันจึงหมดความหมายไปด้วย – ผู้แปล)
ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ถ้ามีบุคคลใดๆนำเอาสัปตรัตนะซึ่งมีปริมาณเต็มเปี่ยมเท่าเมล็ดทรายในคงคานที ทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุมาบริจาคทาน บุคคลนั้นอาศัยเหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ได้รับบุญกุศลมากอยู่ฤาหนอแล “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุคคลผู้นั้นอาศัยเหตุปัจจัยดังกล่าวย่อมได้รับบุญกุศลมากมายพระเจ้าข้า “
พ “ ดูก่อนสุภูติ หากบุญกุศลจักพึงมีสภาวะอยู่จริงแท้แล้ว ตถาคตก็จักไม่กล่าวว่า เขาได้บุญกุศลมากมาย ทั้งนี้ด้วยเหตุว่าบุญกุศลนั้นปราศจากสภาวะ ตถาคตจึงกล่าวว่าผู้นั้นได้บุญกุศลมากมาย “ * 12
( * 12 กล่าวคือบุญกุศลที่แท้จริงนั้นเป็นศูนยตาซึ่งเป็นฝ่ายวัฏฏคามินี ถ้ายังมีความยึดถืออยู่ก็เป็นบุญกุศลชนิดฝ่ายวัฏฏคามินี - ผู้แปล)
พ “ อนึ่ง สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักเห็นพระพุทธเจ้าได้ในรูปกายอันสมบูรณ์นี้ฤา “
สุ “ มิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นการไม่สมควรเลยที่จะเห็นพระตถาคตเจ้าในรูปกายอันสมบูรณ์นี้ ทั้งนี้เพราะเหตุใด พระตถาคตตรัสว่า รูปกายอันสมบูรณ์นั้น โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งรูปกายอันสมบูรณ์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า รูปกายอันสมบูรณ์เท่านั้น”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักเห็นพระพุทธเจ้าได้ในสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ได้อยู่ฤาหนอแล “
สุ “ มิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นการไม่สมควรเลยที่จะเห็นพระตถาคตเจ้าในสรรพลักษณะอันสมบูรณ์นี้ ทั้งนี้เพราะเหตุใด พระตถาคตตรัสว่า สรรพลักษณะอันสมบูรณ์ โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าสรรพลักษณะอันสมบูรณ์เท่านั้น “
พ “ สุภูติเอย เธออย่ากล่าวว่าตถาคตมีมนสิการว่า เราเป็นผู้แสดงธรรมแก่มวลสรรพสัตว์ เธออย่าเข้าใจอย่างนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน หากมีบุคคลกล่าวว่า ตถาคตเป็นผู้แสดงธรรม ชื่อว่าเป็นผู้ติเตียนตู่พระพุทธเจ้า เขาผู้นั้นไม่เข้าใจในวจนะของเรา สุภูติ ที่เรียกว่าการแสดงธรรมนั้น โดยความจริงแล้วไม่มีธรรมใดที่แสดงเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าการแสดงธรรมเท่านั้น “
ก็โดยสมัยนั้นแลพระสุภูติเถระผู้มีปัญญาทูลถามพระบรมศาสดาขึ้นว่า
สุ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังจะมีสรรพสัตว์ใดในอนาคตกาล สดับธรรมนี้แล้วบังเกิดศรัทธาจิตขึ้นฤาหนอแล “
พ “ ดูก่อนสุภูติ เขา(ผู้สดับธรรมแห่งพระสูตรนี้) มิใช่สรรพสัตว์ แต่จักว่ามิใช่สรรพสัตว์เลยก็มิได้ *13 ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา ดูก่อนสุภูติ ที่ว่าสรรพสัตว์ สรรพสัตว์นั้น ตถาคตกล่าวว่าปราศจากสภาวะแห่งสรรพสัตว์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าสรรพสัตว์เท่านั้น
( * 13 อรรกถากล่าวว่า ผู้ที่สดับพระสูตรนี้บังเกิดศรัทธาจิตขึ้น นับว่าเป็นสัตว์ประเภทพิเศษไม่เหมือนสรรพสัตว์ทั่วไป แต่ผู้นั้นก็ยังมีกิเลสไม่บรรลุโพธิญาณ จึงสงเคราะห์อยู่ในสรรพสัตว์ ข้าพเจ้ามีความเห็นตรงกันข้ามกับอรรกถา ข้าพเจ้าเข

มหากรุณาธารณีสูตร
พระสูตรมหากรุณาธารณีสูตร พระสูตรสำคัญในพุทธศาสนามหายาน เป็นพระสูตรของพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ปางพันมือพันตา ซึ่งถือเป็นปางที่ทรงมหิธานุภาพที่สุด ปางนี้เป็นปางที่พระโพธิสัตว์เจ้ามาเพื่อโปรดสัตว์ที่ดุร้ายที่สุด พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ใช้ในพิธีกรรมปลุกเษกทุกสรรพสิ่ง เช่นการปลุกเษกมณฑลพิธี ปลุกเษกพระเครื่อง เป็นต้น ธารณีนี้เป็นธารณีแห่งความเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดจากอันตรายทุกประการ มหากรุณาคือจิตเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ไพศาล ธารณีคือมนตร์คาถาหรือคำระหัสแห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้าที่ได้จากฌานสมาบัติ มหากรุณาธารณีจึงเป็นธรรมมูลฐานที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยมหาเมตตา ผู้ตั้งใจสวดท่องจึงได้รับผลสนองตอบอันยิ่งใหญ่ ด้วยว่าในขณะสวดท่องธารณีนี้จะปรากฏพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เจ้า พระอรหันต์เจ้า เทพธรรมบาล 84 พระองค์คอยให้ความช่วยเหลือคุ้มครองและนำพาให้บรรลุธรรม


ภาพสัญลักษณ์แห่งพระมหาเมตตากรุณาแห่งองค์พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ 84 ปางในการเสด็จมาโปรดสัตว์
หมายเหตุ การออกเสียงใต้ภาพเป็นภาษาจีน ตัวอย่าง นำมอห่อลาตันนอตอลาแหย่แย(เสียงจีน) นโม.ระตะนะ.ตรา.ยา.ยะ.(เสียงธิเบต)
1นำมอห่อลาตันนอตอลาแหย่แย นำมอหมายถึง น้อมนอบ ห่อลาตันนอ หมายถึงรัตนะ ตอลาแหย่หมายถึงสาม แย หมายถึง นมัสการ ขอน้อมนมัสการพระรัตนไตร
รูปองค์พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ถือลูกประคำ ผู้ปฏิบัติจะต้องท่องสวดด้วยความศรัทธาและเมตตากรุณา
2นำมอออรีแย นำมอ หมายถึงน้อมนอบพึ่งพิง ออรีแย หมายถึงองค์อริยะ ขอน้อมนอบพึ่งพิงพระอริยะซึ่งละบาปอกุศลแล้ว
รูปองค์พระจินดาจักรอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ถือธรรมจักร ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติด้วยความเคารพ
3พอลูกิตตีชอปอราแย พอลูกิตตี แปลว่าเพ่งพิจารณา ชอปอลา แปลว่า เสียงของโลก แย แปลว่าขอน้อมนมัสการ ขอน้อมนมัสการพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ผู้คอยฟังเสียงร้องทุกข์
รูปองค์พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ อุ้มบาตร ผู้ปฏิบัติต้องเพ่งให้เห็นองค์ท่าน
4ผู่ทีสักตอพอแย ผู่ที แปลว่าตรัสรู้ สักตอ แปลว่ามีอารมณ์ พอแย แปลว่าคารวะ ขอน้อมคารวะต่อผู้ให้ความตรัสรู้แก่ทุกชีวิต
รูปองค์พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎในรูปพระอมงบาศโพธิสัตว์ โปรดสัตว์
5มอฮอสักตอพอแย มอฮอ แปลว่า มหา ใหญ่มาก สักตอ แปลว่าสัตว์โลก พอแย แปลว่าคารวะ ขอคารวะต่อมหาสัตว์ผู้หลุดพ้น
รูปองค์พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ สวดธารณีนี้
6มอฮอเกียลูนีเกียแย เกียลู แปลว่า กรุณา นีเกีย แปลว่าจิต แย แปลว่า คารวะ ขอคารวะต่อพระผู้มีมหากรุณาจิต
รูปองค์พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นอัศวโฆษโพธิสัตว์ ตรัสรู้เอง หลุดพ้นเอง และให้ผู้อื่นเห็นแจ้งด้วย
7งัน หรือ โอม เป็นอักขระศักดิ์สิทธิ์ เป็นมูลฐานของธารณีทั้งมวล เป็นศูนย์รวมแห่งสรรพสิ่ง
รูปราชาแห่งเทพ พนมมือฟังธารณีนี้ ผู้เพ่งในอักขระนี้เป็นการเพ่งถึงพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง เทพเทวาทั้งปวง
8สักพันลาฟาอี สักพันลา แปลว่า อิสระ ฟาอี แปลว่า องค์อิสระ องค์อริยะผู้อิสระ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นจตุโลกาบาลเทพราช โปรดมารด้วยบารมี 6
9ซูตันนอตันแซ แปลว่าการปฏิบัติธรรมต้องมีสัจจะเป็นพื้นฐาน
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นจตุโลกาบาลเทพราช พร้อมกับเทพเจ้าภูติผีปีศาจในบังคับบัญชา เพื่อให้มนุษย์เลิกทำบาป
10นำมอสึดกิตลีตออีมงออรีแย สึดกิตรีตออีมง แปลว่าย่อมได้รับความคุ้มครอง ออรีแย ผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมได้รับความคุ้มครอง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ปรากฎเป็นพระนาคารชุนโพธิสัตว์ คุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม ปราบปรามเหล่าศัตรู
11พอลูกิตตีสึดฟูลาเลงทอพอ พอลูกิตตี แปลว่าจิตต้องกับธรรม สึดฟูลา แปลว่าท่องเที่ยวไปตามใจอิสระ เลงทอพอ แปลว่าเนื่องด้วยสำเร็จในมรรคผล
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นสัมโภคกายของพระไวโรจนะพุทธเจ้า เพื่อโปรดสัตว์จำนวนอมิต
12นำมอนอลากินชี แปลว่า การคุ้มครองคนดี นักปราชญ์
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระไวโรจนะพุทธเจ้า เป็นองค์ธรรมกาย ให้สัตว์โลกทั้งหลายสุขสำราญ
13ซีรีมอฮอพันตอซาแม ซี่รีมอฮอ แปลว่าเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ พันตอซาแม แปลว่าผู้มีบุญวาสนา
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นเมษศีรษะเทพเจ้า คุ้มครองผู้มีเมตตากรุณา สารพัดพิษมิอาจกล้ำกลาย
14สักพอออทอเตาซีพง สัก แปลว่าเห็น พอ แปลว่าเสมอภาค ออ แปลว่าสรรพธรรมบริสุทธิ์ ทอเตาซีพง แปลว่า ธรรมไม่มีขอบเขต
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็น อมฤตโพธิสัตว์ มือหนึ่งถือทันตโบณ มือหนึ่งถืออมฤตกุณท์ โปรดสรรพสัตว์
15ออซียิน แปลว่าผู้ทำความดี ได้รับการชมเชย
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นยักษ์เหาะเหินราช ตรวจตราไปตามสี่ทิศ พิจารณาความผิดถูก
16สักพอสักตอนอมอพอสัก ตอนอมอพอแค สักพอสักตอ แปลว่าพุทธธรรมไม่มีขอบเขต นอมอพอสักตอ แปลว่าพุทธธรรมเสมอภาคนอมอพอแคแปลว่าพุทธธรรมไพศาล
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นเทพเจ้าภคติ ร่างใหญ่ ผิวดำ ถือมีด โปรดสรรพสัตว์ที่มีวาสนาสัมพันธ์
17มอฟาทาเตา พระโพธิสัตว์เตือนให้สรรพสัตว์มุ่งปฏิบัติ ศูนยตาธรรม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นกุนตาลี ถือจักรและบ่วงบาศ มีดวงตา 3 ดวง
18ตันจิตทอ พระโพธิสัตว์ชี้ให้เห็นว่า นามพระโพธิสัตว์ มนตร์คาถา พีชะ หัสตมุทรา ปัญญาจักษุ เป็นทางเข้าสู่มรรคผล
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระอรหันต์ แสดงธรรมโปรดสัตว์
19งัน**ออพอลูซี แปลว่าพระโพธิสัตว์ผู้มีธรรมบริสุทธิ์
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์พนมมือ แสดงกรุณาธรรม ปลดทุกข์ให้ความสุขแก่สัตว์โลก
20ลูเกียตี แปลว่าโลกนารถ อิสระจิตไม่มัวหมอง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระมหาพรหมเทพราช โปรดสรรพสัตว์ทั้ง 10 ทิศ
21เกียลาตี หมายถึง ผู้ปลดทุกข์ หรือผู้มีจิตในธรรมอันมั่นคง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นเทพเจ้า ช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั่วทศทิศ
22อีซีรี หมายถึงกระทำตามโอวาท
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นเทพเจ้ามเหศวรแห่งสวรรค์ดาวดึง นำทัพเทพยดา มาโปรดสัตว์
23มอฮอผู่ทีสักตอ มอฮอ แปลว่า มหา ผู่ที แปลว่าเห็นโลกเป็นสูญ สักตอ แปลว่าการปฏิบัติอนัตตาธรรม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ในปางยืนเข้าสมาธิ ผู้ทรงมหาเมตตาบริสุทธิ์ อนัตตาธรรม
24สักพอ สักพอ แปลว่าพุทธธรรมเสมอภาค
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นคนธาลัยโพธิสัตว์นำทหารภูติ5ทิศและผู้ติดตาม มาโปรดสรรพสัตว์
25มอรา มอรา แปลว่าผู้ปฏิบัติจะได้มโนรถแก้วมณี มอราที่2 หมายถึง แก้วมณีอันเป็นมโนรถ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็น
พระปัณทรวาสินีโพธิสัตว์ มือขวาถือแก้วอายุวัฒนะ มือซ้ายอุ้มชูเด็ก โปรดสัตว์โลกให้มีอายุยืนยาว
26มอซี มอซีลีทอยิน มอซี แปลว่าได้มีอิสระทันที ลีทอยิน แปลว่า ปฏิบัติจนได้วชิรธรรมกาย ได้อาสน์ดอกบัว
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระอมิตาภะพุทธเจ้า เมื่อสิ้นสัมโภคกายนี้แล้ว ต่างไปเกิดในสุขขาวดีภูมิ
27กีลูกีลู กิตมง กีลู แปลว่าการเกิดความคิดปฏิบัติธรรม เทพเจ้าจะมารักษา กิตมง แปลว่าผู้ปฏิบัติสร้างสมบุญบารมีเป็นพื้นฐานการบรรลุธรรม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นอากาศกายโพธิสัตว์ นำทัพเทพจำนวนหมื่นโกฎิ มาโปรดสัตว์จำนวนอมิตา
28ตูรู ตูรู ฟาแซแยตี ตูรู แปลว่าความแน่วแน่มีสมาธิ ฟาแซแยตี แปลว่าความบริสุทธิ์ ใหญ่ยิ่ง สามารถข้ามพ้นความเกิดดับ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระอุครโพธิสัตว์ คุมทหารของมยุรราชปราบปรามเหล่ามาร
29 มอฮอฟาแซแยตี หมายถึงธรรมอันไพศาล
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นแม่ทัพมหาพละ ถือคฑา คุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม
30 ทอลา ทอลา เป็นธารณี ทำจิตให้เหมือนอากาศโปร่งใสไม่มีอละอองฝุ่น
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็น มหาบุรุษ ทำทุกข์กิริยา
31 ตีรีนี ตี หมายถึงโลก รี คือสัตว์ทั้งหลายล้วนสามารถบรรลุธรรมได้ นี คือ พรหมจาริณีผู้ปฏิบัติธรรม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นสิงหราช ทดสอบการศึกษาธรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะทรงโปรดสตรีเพศ
32 สึดฟูลาแย หมายถึง เมื่อเข้าถึงธรรมชาติแห่งสภาวะเดิมแล้ว แสงแห่งธรรมกายก็ปรากฏ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระคำรามโพธิสัตว์ มือถือคฑาทองคำ ปราบมารและบริวารของมาร
33 เจลาเจลา หมายถึงความโกรธดุ ประกาศเสมือนเสียงคำรามฟ้าร้อง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นหักหาญโพธิสัตว์ มือถือสุวรรณจักร โปรดเหล่ามาร
34 มอมอฟามอรา มอมอคือการทำดี สามารถทำลายความกังวล ฟามอรา คือ ธรรมอันลึกซึ้ง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นอภิจารกมารวชิร มือถือสุวรรณจักรคุ้มครองสัตว์โลก ให้มีความศิริมงคล
35 หมุกตีลี หมายถึงความหลุดพ้น
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระพุทธเจ้าพนมมือฟังและสวดธารณี ผู้ปฏิบัติตามนี้จะบรรลุพุทธผล
36 อีซี อีซี หมายถึงการชักชวนตามพระศาสนา ทุกสิ่งให้เป็นไปตามธรรมชาติ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นมเหศวรเทพเจ้าโปรดทวยเทพและมนุษย์
37 สึดนอ สึดนอ หมายถึงมหาปณิธาน
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นกาณะมารเทพราชสั่งสอนทวยเทพ
38 ออลาเซียงฟูลาแซลี ออลาเซียง คือความผ่านธรรมไปถึงธรรมราชา ฟูลาแซลี หมายถึงได้ธรรมกายอันบริสุทธิ์
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ถือธนูลูกศร
39 ฟอซอฟาเซียง ฟาซอ หมายถึงผู้มีขันติธรรม ฟาเซียง หมายถึงผุ้บรรลุธรรม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นแม่ทัพสุวรรณมงกุฎภูมิ ถือกระดิ่งประกาศธรรมตามกาลที่เหมาะสม โปรดสรรพสัตว์
40 ฟูลาแซแย หมายถึง ต้องรู้ด้วยตนเอง
รูปพระอมิตาภะพุทธเจ้า สัตว์โลกผู้ระลึกถึงท่าน สวดพระนามท่าน ปฏิบัติธรรมของท่าน จะต้องได้พบกับท่าน
41 ฟูลู ฟูลูมอรา หมายถึง การประกอบพุทธธรรมตามจิตปารถนา
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นเทพเจ้าแปดคติ พนมมือ ตั้งเมตตาจิตโปรดเหล่าภูติผี
42 ฟูลู ฟูลูซีรี ประกอบพุทธธรรมโดยปราศจากความคิดคำนึง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นเทพสี่กร มือถือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โปรดเทพและมนุษย์
43 ซอรา ซอรา หมายถึงความมุ่งมั่นในจิต ก็จะได้พบพระอวโลติเกศวร
ภาพถ้ำพรหมโฆษ ที่ภูเขาพูท้อ มณฑลจีเจียง
44 สึดลี สึดลี หมายถึงมงคลยอดเยี่ยม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์อันเปี่ยมด้วยพระเมตตา มือถือทันตโบณและกุณโฑ พรมน้ำอมฤต
45 ซูรู ซูรู คือเสียงใบโพธิ์ร่วงหรือเสียงน้ำอมฤต
ผู้ได้รับฟังเกิดความสงบระงับ ผู้ได้รับการอภิเษกชุ่มชื่นกายใจ อิ่มเอิ่บ เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม
46 ผู่ทีแย ผู่ทีแย หมายถึงตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ชีวิต
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ มีเด็กติดตาม แสดงความเมตตากรุณาโปรดสรรพสัตว์
47 ผู่ทอแย ผู่ทอแย หมายถึงรู้ธรรม รู้จิต
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระอานนท์เถระ ผู้เลิศในความเป้นพหูสูตร มืออุ้มบาตร โปรดสัตว์
48 มีตีลีแย หมายถึงมหากรุณา
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระศรีอริยะเมตไตรย์โพธิสัตว์ แนะนำสรรพสัตว์ปฏิบัติมหากรุณาธรรม
49 นอลากินชี หมายถึงปราชญ์ผู้รักษาตนเอง มีมหากรุณาจิต ปลุกสรรพสัตว์ให้ตื่นจากความหลับ พ้นทุคติ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ผู้ทรงตั้งปณิธานโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ทั่วนรกภูมิ
50 ตีลีสึดนีนอ หมายถึงความคมของวชิระ วชิระได้ชื่อว่าแข็งแกร่งและคมที่สุดตัดทำลายอวิชชาทุกประเภทได้รวดเร็วและแน่นอน
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระรัตนธวัชโพธิสัตว์ มือซ้ายเป็นมุทรา มือขวาถือหอกสามง่ามทองคำ โปรดสัตว์
51 พอแย มอนอ หมายถึงเสียงก้องไปทศทิศ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นสุวรรณาภาธวัชโพธิสัตว์ มือถือวชิรคฑา โปรดสัตว์
52 ซอผ่อฮอ หมายถึงสำเร็จผลในนิพพาน
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นสามเศียรสุอริยะ นั่งขัดสมาธิ โปรดสัตว์ด้วยนิพพานธรรม
53 สึดทอแย หมายถึงสำเร็จในอรรถทั้งหลาย
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระสารีบุตรเถระ ทำมือท่าปทุมมุทรา รอบรู้ธรรมทั้งปวง
54 ซอผ่อฮอ หมายถึงสำเร็จเห็นแจ้งด้วยมงคลจิต
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ประทับยืนเหนือมังกร หลั่งน้ำอมฤตลงในมหาสมุทร โปรดสัตว์ด้วยมงคลจิต
55 มอฮอสึดทอแย หมายถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ เปร่งรัศมี มือถือรัตนธวัช ส่องแสงสว่างโปรดสัตว์
56 ซอผ่อฮอ ผลสำเร็จจากการปฏิบัติกรุณาธรรม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระโมคคัลลานะเถระ มือถือขักขระและอุ้มบาตร ระงับภยันตรายให้สัตว์โลก
57 สึดทอยีอี สึดทอ หมายถึงสำเร็จ ยีอี หมายถึงว่างเปล่า เข้าสู่ความว่างเปล่าที่แท้จริงนั่นคือเข้าสู่สุขาวดี
รูปบรรดาพระโพธิสัตว์และทวยเทพชุมนุมพร้อมกันที่สุขาวดี
58 สึดพันลาแย หมายถึงความอิสระอันสมบูรณ์
รูปกำยานพระอมิตาภะพุทธเจ้ากับพระอวโลติเกศวร
59 ซอผ่อฮอ หมายถึงสำเร็จในสภาวะธรรมอันสมบูรณ์
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นอชานเถระ ใบหน้าหัวเราะชูบาตรขึ้นสูง เพิ่มพูนกำลังใจในการโปรดสัตว์
60 นอลากินชี หมายถึงสำเร็จด้วยความรัก ความรักที่มีต่อชาวโลกดังห้วงมหาสมุทรมิมีวันเหือดแห้ง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นคีรีสาครปัญญาโพธิสัตว์ มือถือดาบทองคำ
61 ซอผ่อฮอ หมายถึงสำเร็จสมบูรณ์ด้วยโพธิสัตว์ธรรม ปล่อยวางจากทัศนแห่งปัจเจกธรรม ปัจเจกธรรมเพื่อตนเอง โพธิธรรมเพื่อสรรพสัตว์ทั้งปวง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นจัณทาลเถระ หาบงอบฟาง ถือสัทอรรถธรรมอสังสฤต โปรดสัตว์
62 มอลานอลา มอลา คือมโนรส นอลา คือ อนุตร อนุตรผลสำเร็จด้วยจิต
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นรัตนมุทรราชโพธิสัตว์ มือถือขวานทองคำ ทดสอบจิตและการกระทำของสัตว์โลก
63 ซอผ่อฮอ หมายถึงสำเร็จด้วยรู้สภาวะเดิมอันอยู่ภายในจิต
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นเกาซีลาเถระ สวมรองเท้าอ้อเดินบนคลื่นน้ำ เปล่งเสียงดังคลื่น เพื่อเดือนสรรพสัตว์
64 สึดลาเจงออหมุกแคแย หมายถึงความสมานฉันท์ ความรักกันในสัตว์โลก
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นเภสัชราชโพธิสัตว์ ถือสมุนไพรรักษาโรค ให้สัตว์โลก
65 ซอผ่อฮอ หมายถึงสำเร็จด้วยธรรม ธรรมเท่านั้นที่รักษาโรคทางจิตได้
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นสมบูรณ์โพธิสัตว์ สวมเสื้อแดง มือทำท่ามุทรา ด้วยจิตอันสมบูรณ์ อำนวยสุขแก่สัตว์โลก
66 ซอผ่อหม่อฮอ ออสึดทอแย ซอพอหม่อฮอ หมายถึงสัตว์ทุกประเภท ออสึดทอแย หมายถึงร่วมกันสุขสบาย
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นอุตรเภสัชโพธิสัตว์ มือถือกุณโท รักษาโรคให้มนุษย์
67 ซอผ่อฮอ หมายถึงสำเร็จธรรมไปถึงฝั่งโน้น
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นพระสารีบุตรเถระ มือยกชูพระสูตร โปรดสัตว์ไปจุติในสุขาวดีภูมิ
68 เจกิตลาออสึดทอแย เจกิดลา คือการใช้วชิระจักร ออสิตทอแย ความสำเร็จอันไม่มีใดเทียบ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นแม่ทัพพยัคฆ์คำราม ถือขวาน ปราบมารด้วยจิตอันมั่นคง
69 ซอผ่อฮอ หมายถึงความสำเร็จจากการไม่ประกอบอกุศลทั้งมวล
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นบรรดาเทพมารราช ถือหอกยาว
70 ปอทอมอกิตสึดทอแย ปอทอ แปลว่าดอกบัวแดง มอกิต คือชนะ สึดทอแย คือสำเร็จทั้งสิ้น มรรคผลประดุจบัวแดงอันบริสุทธิ์ไม่มีมลทินจากโคลนตม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นสัทคนธ์เทพโพธิสัตว์ ยกกระถางธูปมโนรส คุ้มครองสัตว์โลก
71 ซอผ่อฮอ หมายถึงสำเร็จโดยไม่ยึดติด
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ โปรยดอกบัวพันกลีบ เพื่อบรรลุความปรารถนาให้สัตว์โลกมีสุข
72 นอลากินชี พันแคลาแย นอลากินชี คือรักษาไว้ด้วยความเป็นมงคล พันแคลาแย แปลว่าเถระเพ่งโดยอิสระ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นปูราณเถระ อุ้มบาตร ช่วยสัตว์โลกให้พ้นภยันตราย
73 ซอผ่อฮอ สำเร็จด้วยความสำนึกในสภาวะดั้งเดิม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นดาลาณีบุตรโพธิสัตว์ ถือผลไม้สดให้ทานแก่สรรพสัตว์ โปรดสัตว์ให้รู้สภาวะเดิมแท้
74 มอพอลีเซงกิตลาแย มอพอลีเซง คือมหาวีระ กิตลาแย คือสภาวะเดิม มหาวีระผู้เห็นแจ้งในสภาวะเดิม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นสมาธิญานโพธิสัตว์ นั่งขัดสมาธิจักร ถือรัตนโคมไฟ ส่องแสงไปทั่วธรรมโลกธาตุ
75 ซอผ่อฮอ สำเร็จโดยรวมความทั้งหมดของมหากรุณาธารณีนี้
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นมหากัสสปะเถระ มือซ้ายถือประคำ มือขวาถือไม้เท้า นำสรรพสัตว์ปฏิบัติธรรม
76 นำมอห่อลา ตันนอตอลา แหย่แย น้อมนมัสการพระรัตนไตร พระโพธิสัตว์ย้ำให้ศรัทธามั่นในพระรัตนไตร และสวดท่องธารณีอย่างต่อเนื่อง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นอากาศครรภ์โพธิสัตว์ ถือดอกไม้ นั่งบนอาสน์หิน ให้สัตว์โลกมั่นคงในศรัทธา
77 นำมอ ออรีแย น้อมนมัสการองค์อริยะ เตือนสรรพสัตว์ให้รีบเร่งปฏิบัติธรรม
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นสมันตภัทรโพธิสัตว์ นั่งบนหลังคันธหัสดร์ร้อยรัตน ให้สรรพสัตว์ปฏิบัติธรรมโดยสมบูรณ์
78 พอลูกิตตี หมายถึงพระอวโลติเกศวร ผู้นำพาสรรพสัตว์เข้าสู่สุขาวดีพุทธภูมิ
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นมัญชูศรีโพธิสัตว์ นั่งอยู่บนหลังสิงหอาสน์ มือซ้ายชี้ขึ้นท้องฟ้า เพื่อให้สรรพสัตว์เข้าถึงธรรม
79 ชอพันลาแย หมายถึง ผู้ซึ้งแล้วอายตนะภายในตา อันเชื่อมต่อกับอายตนะภายนอกคือรูป
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ บรรยายประสาทตาที่รับรู้ เป็นลักษณะดอกบัวทองพันกลีบ
80 ซอผ่อฮอ หมายถึง ผู้ซึ้งแล้วอายตนะภายใน หู อันเชื่อมต่อกับอายตนะภายนอกคือ เสียง
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ บรรยายประสาทหูที่รับรู้ เป็นลักษณะวางแขนลงมา ล้อมรอบองค์ด้วยเครื่องดนตรี
81 งัน**สึดตินตู หมายถึง ผู้ซึ้งแล้วอายตนะภายใน จมูก อันเชื่อมต่อกับอายตนะภายนอกคือ กลิ่น
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ บรรยายประสาทจมูกที่รับรู้ เป็นลักษณะชูนิ้วทั้ง5
82 มันตอรา คือธรรมมณฑล หมายถึง ผู้ซึ้งแล้วอายตนะภายใน ลิ้น อันเชื่อมต่อกับอายตนะภายนอกคือ รส
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ บรรยายประสาทลิ้น เป็นรูปชูมือตูละนุ่น
83 ปัดทอแย หมายถึง ผู้ซึ้งแล้วอายตนะภายใน กาย อันเชื่อมต่อกับอายตนะภายนอกคือ สัมผัส
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ บรรยายประสาทสัมผัส เป็นรูปยกคณฑ์บาตร
84 ซอผ่อฮอ หมายถึง ผู้ซึ้งแล้วอายตนะภายใน ใจ อันเชื่อมต่อกับอายตนะภายนอกคือ อารมณ์
รูปพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ บรรยายจิตประสาทและธรรมกาย เป็นรูป พระโพธิสัตว์ถือธวัชยาว สรรพสิ่งเกิดที่ใจ ความว่างเปล่าเกิดที่ใจ
พระสูตรสุขาวดียูหสูตร
คำแปลสุขาวดียูหสูตร
ขอนบน้อมแต่พระสรรเพ็ชญ์เจ้า
ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเสด็จ สำราญพระอิริยาบถ อยู่ในเขตวนารามของท่านอนาถปิณฑกะ ใกล้กรุงสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมูใหญ่ คือภิกษุ 1250 รูป ผู้แตกฉานในอภิญญา เป็นพระเถระมหาสาวกล้วนแต่พระอรหันต์เจ้า เช่น พระศาริบุตรเถระ, พระมหาเมาท คัลยายนะ, พระมหากาศยปะ, พระมหาศุทธิปัถกะ, พระนันทะ, พระอานันทะ, พรารหุละ, พระความปติ, พระภรัทวาชะ, พระกาโลทยิน, พระวักกุละและพระอนิรุทธะ กับพระสาวกอื่นอีกมากหลาย ตลอดจนพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ เป็นอันมาก เช่น พระมัญชุศรีโพธิสัตว์, พระกุมารภูติโพธิสัตว์, พระอชิตโพธิสัตว์, พระคันธหัสดีโพธิสัตว์, พระนิตโยทยุกตโพธิสัตว์และพระอนิกษิปตธุรโพธิสัตว์, กับพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ อื่นอีกมากมายและ ท้าวศักระจอมเทพ , ท้าวสหัมบดีพรหม กับเทพบุตรอื่นๆเป็นอันมาก นับจำนวนแสนนยุตะ (1นยุต100000โกฏิ)
ณ สถานที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะพระศาริบุตรผู้มีอายุว่า ดูก่อนศาริบุตร ในทิศภาคเบื้องตะวันตก นับแต่พุทธเกษตรนี้ไปแสนโกฏิพุทธเกษตร มีโลกธาตุหนึ่ง นามว่า สุขาวดี อันเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระอมิตาภะตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ยังทรงพระชนม์และแสดงธรรมอยู่ในกาลบัดนี้ ศาริบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุดังฤาโลกธาตุโลกธาตุนั้นจึงได้นามว่าสุขาวดี. ศาริบุตรเอย สัตว์ทั้งหลายในโลกธาตุนั้น ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจเลย มีแต่เหตุแห่งสุขอันหาประมาณมิได้อย่างเดียว เหตุดังนั้น โลกธาตุนั้นจึงได้นามว่าสุขาวดี.
ดูก่อนศาริบุตร อนึ่ง สุขาวดีโลกธาตุประดับประดาแวดล้อมไปด้วยกำแพง 7 ชั้น ต้นตาล 7 แถว และข่ายกะดึงทั้งหลายงดงามน่าดูด้วยรัตนะ 4 ประการคือ ทอง เงิน ไพฑูรย์ ผลึก ศาริบุตรเอย พุทธเกษตรนั้นประดับด้วยองคคุณประจำพุทธเกษตรเห็นปานนี้.
ดูก่อนศาริบุตร อนึ่ง สุขาวดีโลกธาตุมีสระโบกขรณีทั้งหลายอันแล้วด้วยรัตนะ 7 ประการ คือ ทอง เงิน ไพฑูรย์ ผลึก ทับทิม มรกต และบุศราคัม เปี่ยมด้วยอัษฎางคิกวารี (น้ำประกอบด้วยองค์แปด) มีท่าน้ำอันเรียบราบ พอที่กา(จะก้มลง)ดื่มได้ รายระยับไปด้วย ทรายทองและมีบันได 4 บันไดโดยรอบทั้ง 4 ทิศ งดงามน่าดูด้วยรัตนะ 4 ประการ คือทอง เงิน ไพฑูรย์ ผลึก มีรัตนพฤกษ์อันงดงามน่าดูด้วยรัตนะ 7 ประการ คือ ทอง เงิน ไพฑูรย์ ผลึก ทับทิบ มรกตและบุศราคัม ขึ้นอยู่รายรอบสระโบกขรณีเหล่านั้น มีดอกประทุมอันมีธรรมชาติ สี แสง ความน่าดู เขียว เหลือง แดง ขาวและสลับสีใหญ่ประมาณเท่ากงเกวียน. ศาริบุตรเอย พุทธเกษตรนั้นประดับด้วยองคคุณประจำพุทธเกษตรเห็นปานนี้.
ดูก่อนศาริบุตร อนึ่ง ในพุทธเกษตรนั้นมีทิพยดนตรีอันบรรเลงอยู่เป็นนิตย์ และมหาปฐพีก็มีสีเพียงดังทองน่ารื่นรมย์ มีฝนดอกมณฑารพอันเป็นทิพย์ตกคืนละ 3 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง สัตว์ที่เกิดในพุทธเกษตรนั้น ย่อมไปสู่โลกธาตุอื่น ถวายบังคมพระพุทธเจ้าแสนโกฏิพระองค์ชั่วเวลาก่อนอาหารคราวหนึ่ง ใช้ฝนดอกไม้แสนโกฏิเกลี่ยลงบูชาพระตถาคตเจ้าแต่ละพระองค์ แล้วกลับมาสู่โลกธาตุนั้นแลอีก เพื่อพักผ่อนในกลางวัน. ศาริบุตรเอย พุทธเกษตรนั้นประดับด้วยองคคุณประจำพุทธเกษตรเห็นปานนี้.
ดูก่อนศาริบุตร อนึ่ง ในพุทธเกษตรนั้น มีหงส์ นกกะเรียน นกยูง ประชุมกันขับประสานเสียงของตน คืนละ 3 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง เสียงของปวงนกที่ประสานกันนั้น ย่อมเปล่งประกาศอินทรีย์(ธรรมอันเป็นใหญ่) พละ (ธรรมเป็นกำลัง)และโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้) มนุษย์ทั้งหลายในพุทธเกษตรนั้น ฟังเสียงนั้นแล้วย่อมเกิดมนสิการในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ศาริบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นว่า สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้เกิดในกำเนิดดิรัจฉานกระนั้นหรือ เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา ศาริบุตร แม้แต่ชื่อแห่งนรก กำเนิดดิรัจฉานและยมโลก ก็ไม่มีในพุทธเกษตรนั้น หมู่นกเหล่านั้น พระอมิตาภะยุคถาคตเจ้าทรงนิรมิตขึ้นให้เปล่งเสียงประกาศพระธรรมต่างหาก ศาริบุตร พุทธเกษตรนั้นประดับด้วยองคคุณประจำพุทธเกษตรเห็นปานนี้.
ดูก่อนศาริบุตร อนึ่ง แถวต้นตาลและข่ายกระดึงทั้งหลายในพุทธเกษตรนั้น เมื่อลมโชยมากระทบ ย่อมเปล่งเสียงไพเราะจับใจดุจเสียงทิพยดนตรีมีเครื่องประกอบแสงโกฏิ อันอารยชนบรรเลงแล้ว. มนุษย์ในพุทธเกษตรนั้น สดับเสียงนั้นแล้วย่อมพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังหานุสสติตั้งอยู่ในกาย. ศาริบุตรเอย พุทธเกษตรนั้นประดับด้วยองคคุณประจำพุทธเกษตรเห็นปานนี้
ดูก่อนศาริบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุดังฤา พระตถาคตเจ้านั้นจึงได้พระนามว่า อมิตายุ. ศาริบุตรเอย พระตถาคตเจ้าและมนุษย์เหล่านั้น มีประมาณแห่งอายุอันกำหนดนับมิได้. เหตุดังนั้น พระองค์จึงได้พระนามว่า อมิตายุ. อนึ่ง พระตถาคตเจ้านั้นตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณมาแล้วได้ 10 กัลป์
ดูก่อนศาริบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เหตุดังฤา พระตถาคตเจ้านั้นจึงได้พระนามว่า อมิตาภะ รัศมีแห่งพระตถาคตเจ้านั้น (สว่างไป) ไม่ติดขัดในพุทธเกษตรทั้งปวง. เหตุดังนั้น พระองค์จึงได้พระนามว่า อมิตาภะ อนึ่ง พระองหันตสาวกสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ของพระตถาคตเจ้านั้น หาประมาณมิได้ ไม่เป็นการง่ายที่จะกล่าวประมาณ ศาริบุตรเอย พุทธเกษตรนั้นประดับด้วยองคคุณประจำพุทธเกษตรเห็นปานนี้.
ดูก่อนศาริบุตร สัตว์ที่เกิดขึ้นในพุทธเกษตรของพระอมิตายุตถาคตเจ้า เป็นพระโพธิสัตว์ผู้บริสุทธิ์ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกเกี่ยวเนื่องอยู่เพียงชาติเดียว การนับประมาณพระโพธิสัตว์เหล่านั้น มิใช่ทำได้โดยง่าย นอกจากจะนับว่า "อประไมย" (ประมาณไม่ได้) "องสไขย" (นับไม่ได้) อนึ่ง ศาริบุตร สัตว์ทั้งหลายควรตั้งประณิธาน(ที่จะไปเกิด) ในพุทธเกษตรนั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าที่ไหนเล่า การได้อยู่ร่วมกันสัตบุรุษเห็นปานนั้นจึงจะมีได้ (เหมือนในสุขาวดีนี้) ศาริบุตร สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบังเกิดในพุทธเกษตรของพระอมิตายุตถาคตเจ้า มิใช่ด้วยกุศลมูลเพียงเล็กน้อย ศาริบุตร กุลบุตรหรือกุลธิดาไรๆ จักได้สดับพระนามของพระอมิตายุคถาคตเจ้านั้น ครั้นสดับแล้วจักมนสิการ จักมีจิตต์ไม่ซัดส่าย มนสิการตลอดราตรีหนึ่ง หรือ 2 ราตรี หรือ 3, 4, 5, 6, 7,ราตรี เมื่อกุลบุตรหรือกุลธิดานั้นจักสิ้นชีพ พระอมิตายุคถาคตเจ้านั้น อันสาวกสงฆ์แวดล้อมมีหมู่พระโพธิสัตว์ตามหลัง จักปรากฏเบื้องหน้าเขาผู้กำลังสิ้นชีพ เขาย่อม
มีจิตต์สงบสิ้นชีพไป ครั้นสิ้นชีพแล้วก็จะไปเกิดในสุขาวดีโลกธาตุอันเป็นพุทธเกษตรของพระอมิตายุคถาคตเจ้านั้นแล. ศาริบุตรเอย เหตุดังนั้นแหละ เราเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงกล่าวว่า กุลบุตรหรือกุลธิดาพึงตั้งจิตตประณิธาน (ที่จะไปเกิด) ในพุทธเกษตรนั้นโดยเคารพ.
ดูก่อนศาริบุตร เราประกาศเรื่องโลกธาตุนั้นอยู่ในบัดนี้ฉันใด พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในทิศบูรพาเป้นต้นว่า พระอักโษภยตถาคต พระเมรุธวัชตถาคต พระมหาเมรุธวัชตถาคต พระเมรุประภาสตถาคต พระมัญชุธวัชตถาคต กับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายในทิศบูรพา อุปมาด้วยเกล็ดทรายในคงคานทีก็ฉันนั้นแล ต่างอธิบายประกาศทั่วพุทธเกษตรของพระองค์ว่า "ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังธรรมบรรยายนี้ อันประกาศซึ่งคุณเป็นอจิตไตย อันได้นามว่า ได้รับความคุ้มครองแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง
ดูก่อนศาริบุตร พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในทิศทักษิณเป็นต้นว่า พระจันทรสูรยประทีปตถาคต พระยศประภะตถาคต พระมหารุจิสกันธตถาคต พระเมรุประทีปตถาคต พระอนันตวีรยตถาคตกับพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายในทิศทักษิณ อุปมาด้วยเมล็ดทรายในคงคานทีก็ฉันนั้น ต่างอธิบายประกาศทั่วพุทธเกษตรของพระองค์ว่า "ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังธรรมบรรยายนี้ อันประกาศซึ่งคุณเป็นอจินไตย อันได้นามว่า ได้รับความคุ้มครองแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง
ดูก่อนศาริบุตร พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในทิศประจิมเป็นต้นว่า พระอมิตายุคถาคต พระอมิตสกันธตถาคต พระอมิตธวัชตถาคต พระมหาประภะตถาคต พระมหารัตนเกตุตถาคต พระศุทธรัศมิประภะตถาคต กับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายในประจิม อุปมาด้วยเมล็ดทรายในคงคานทีก็ฉันนั้น ต่างอธิบายประกาศทั่วพุทธเกษตรของพระองค์ว่า "ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังธรรมบรรยายนี้ อันประกาศซึ่งคุณเป็นอจินไตย อันได้นามว่า ได้รับความคุ้มครองแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง"
ดูก่อนศาริบุตร พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในทิศอุดรเป็นต้นว่า พระมหารจิสกันธตถาคต พระไวศวานรนิรโฆษตถาคต พระทุนทุภินิรโฆษตถาคต พระอาทิตยสมภพตถาคต พระชโลนิประภะตถาคตกับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายในทิศอุดร อุปมาด้วยเมล็ดทรายในคงคานทีก็ฉันนั้น ต่างอธิบายประกาศทั่วพุทธเกษตรของพระองค์ว่า "ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังธรรมบรรยายนี้ อันประกาศซึ่งคุณเป็นอจินไตย อันได้นามว่า ได้รับความคุ้มครองแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง"
15 ดูก่อนศาริบุตร พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในทิศเบื้องต่ำ เป็นต้นว่า พระสิงหตถาคต พระยศตถาคต พระยศประภาสตถาคต พระธรรมตถาคต พระธรรมธรตถาคต พระธรรมธวัชตถาคต กันพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายในทิศเบื้องต่ำ อุปมาด้วยเมล็ดทรายในคงคานทีก็ฉันนั้น ต่างอธิบายประกาศทั่วพุทธเกษตรของพระองค์ว่า "ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังธรรมบรรยายนี้ อันประกาศซึ่งคุณเป็นอจินไตย อันได้นามว่า ได้รับความคุ้มครองแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง"
16 ดูก่อนพระศาริบุตร พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในทิศเบื้องบน เป็นต้นว่า พระพรหมโฆษตถาคต พระนักษัตรราชตถาคต พระอินทรเกตุธวชตถาคต พระคันโธตตมตถาคต พระคันธประภาสตถาคต พระมหารจิสกันธตถาคต พระรัตนกุสุมสังปุษปิตถาตรตถาคต พระสาลินทรราชตถาคต พระรัตนโนตปลศรีตถาคต พระสรวารถทรศตถาคต พระสุเมรุกาลปตถาคต กับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าในทิศเบื้องบน อุปมาด้วยเมล็ดทรายในคงคานทีก็ฉันนั้น ต่างอธิบายประกาศทั่วพุทธเกษตรของพระองค์ว่า "ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังธรรมบรรยายนี้ อันประกาศซึ่งคุณเป็นอจินไตย อันได้นามว่า ได้รับความคุ้มครองแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง"
17 ดูก่อนศาริบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เพตุดังฤา ธรรมบรรยายนี้จึงได้นามว่า "ได้รับความคุ้มครองแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง" ศาริบุตร กุลบุตรหรือกุลธิดาไรๆ จักได้สดับนามแห่งธรรมบรรยายนี้ และจำทรงจำพระนามแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น กุลบุตรกุลธิดาทั้งปวงนั้น จักเป็นผู้อันพระพุทธเจ้าคุ้มครองจักไม่กลับกลายในอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ศาริบุตร เหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟัง อย่าสงสัยต่อเราและพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ศาริบุตร กุลบุตรหรือกุลธิดาไรๆ จักทำหรือทำแล้วหรือกำลังทำซึ่งจิตตประณิธาน (ที่จะไปเกิด) ในพุทธเกษตรของพระอมิตายุตถาคตผู้มีพระภาคนั้น กุลบุตรหรือกุลธิดาทั้งปวงนั้น จักไม่กลับกลายในอนุตตรสัมมาสัมโพธิ และจักเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วหรือกำลังเกิดขึ้นในพุทธเกษตรนั้น ศาริบุตร เหตุนั้นแล กุลบุตรหรือกุลธิดาผู้มีศรัทธา จึงควรทำจิตตประณิธานให้เกิดขึ้นในพุทธเกษตรนั้น
18 ดูก่อนศาริบุตร เราประกาศคุณอันเป็นอจินไตยของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ในกาลบัดนี้ฉันใด พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมทรงประกาศคุณอันเป็นอจินไตย แม้ของเราอย่างนี้ว่า พระศากยมุนีผู้มีพระภาค ผู้เป็นอธิราชแห่งศากยะทรงทำกรรมที่ทำได้โดยยากยิ่ง ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในสหาโลกธาตุ (โลกธาตุอันเต็มไปด้วยทุกข์ซึ่งจะต้องอดทน) แล้วทรงแสดงธรรมอันให้ผลแก่โลกทั้งปวง" ใน (ท่ามกลาง) ความเสื่อมแห่งอายุ ความเสื่อมเพราะกิเลส.
ดูก่อนศาริบุตร ข้อที่เราตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในสาโลกธาตุ แล้วแสดงธรรมอันให้ผลแก่โลกทั้งปวง" ใน (ท่ามกลาง) ความเสื่อมแห่งสัตว์ ความเสื่อมแห่งทิฏฐิ ความเสื่อมเพราะกิเลส ความเสื่อมแห่งอายุ ความเสื่อมแห่งกัลป์นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งแม้ของเรา
พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้จบลงแล้ว พระศาริบุตรผู้มีอายุ ภิกษุและพระโพธิสัตว์เหล่านั้น ตลอดจนสัตว์โลกกับทั้งเทวา มนุษย์ อสูร คนธรรพ์ก็พากัน มีใจยินดีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
จบ สุขาวดียูหมหายานสูตร